คืนชีวิตป่าต้นน้ำ ด้วยการปลูกจิตสำนึกชุมชน

คืนชีวิตป่าต้นน้ำ ด้วยการปลูกจิตสำนึกชุมชน

      ป่าไม้ เป็นอีกหนึ่งแหล่งพักพิง ที่จะช่วยบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ และป่าที่สำคัญที่สุดสำหรับประเทศไทยในวันนี้ก็คือ “ป่าต้นน้ำ” ซึ่งกำลังถูกทำลายไปปีละหลายแสนไร่ ทำให้ไทยเรา เมื่อมีภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้น จึงเกิดผลกระทบ ความเสียหายตามมามากพอสมควร

      วันนี้.. เราจึงขอยกความสำคัญของป่าต้นน้ำ มาให้ทุกท่านได้เข้าใจ และจะได้ตระหนักถึงป่าต้นน้ำ ว่าควรค่าแก่การรักษา

      ป่าต้นน้ำ หมายถึง ป่าธรรมชาติ ที่ปรากฎอยู่บริเวณพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ซึ่งโดยทั่วไปอยู่ในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 700 เมตรขึ้นไป หรือเป็นพื้นที่ลาดชันมากกว่า 35% ชนิดของป่าไม้ที่มักจะปรากฎให้เห็นในพื้นที่ต้นน้ำ ได้แก่ ป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ต้นน้ำที่สำคัญของไทย ได้แก่ ปิง วัง ยม น่าน และจะไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา โดย 40% ของแม่น้ำเจ้าพระยามาจากแม่น้ำน่าน

      เมื่อฝนตกลงมาบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ ป่าไม้จะทำหน้าที่แบ่งน้ำฝนออกเป็น น้ำบนดิน และน้ำใต้ดิน บริเวณพื้นที่ใดมีต้นไม้ปกคลุมอย่างหนาแน่น จะช่วยลดแรงปะทะหน้าดินกับเม็ดฝนได้ ทำให้ดินดูดซึมน้ำได้ทันและน้ำในแม่น้ำมีน้ำตลอดทั้งปี รวมทั้งการช่วยลดความร้อนจากแสงอาทิตย์ และดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

      และโดยธรรมชาติการดำรงอยู่ของดิน น้ำ และป่าไม้ ก็จะเป็นไปในลักษณะที่สมดุล และเกื้อกูลกันตลอด หากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งจะถูกทำลายลงไป ที่เหลืออยู่จะช่วยกันฟื้นฟูปัจจัยที่ถูกทำลาย ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมอย่างรวดเร็ว อาทิ เมื่อต้นไม้ถูกลมพายุพัดล้มลงไปหนึ่งต้น ดินที่สมบูรณ์ และน้ำที่ชุ่มชื้นจะช่วยให้ต้นไม้ที่อยู่ข้างเคียง เจริญเติบโตขึ้นมาแทนที่อย่างรวดเร็ว ในทางตรงกันข้าม หากป่าไม้ถูกทำลายลงไปเป็นบริเวณกว้างอย่างต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลายาวนาน จะส่งผลให้ปัจจัยอื่นๆ ที่เหลืออยู่เสื่อมสภาพลงตามไปด้วย เหล่านี้จึงเป็นวงจรที่เชื่อมโยง และส่งผลกระทบถึงกันทั้งหมด

      ฉะนั้น !! การดูแลป่าต้นน้ำ ไม่ได้เพียงการดูแลต้นไม้ เท่านั้น แต่ถือเป็นการดูแลอ่างเก็บน้ำตามธรรมชาติ ที่คอยปลดปล่อยน้ำให้ใช้อย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งปี เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลดินให้ยังคงความอุดมสมบูรณ์ เป็นที่พักพิงอิงอาศัยของสิ่งมีชีวิตใหญ่น้อย ทั้งยังเป็นการดูแลความหลากหลายทางชีวภาพด้วย

      เห็นความสำคัญของป่าต้นน้ำ และผลกระทบหากขาดป่าต้นน้ำที่สมบูรณืแล้วใช่ไหมครับ ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้น..สิ่งที่เดียวที่เราจะช่วยกันรักษา คือ การไม่ตัดไม้ทำลายป่า ไม่ทิ้งขยะลงสู่น้ำลำคลอง และอื่นๆ ที่เป็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะเรานี้จะนำไปสู่ปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น ถ้าเราไม่มีป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ป่าพืชพรรณก็จะไม่เจริญเติบโตงอกงาม เมื่อป่าลดลง ก็ไม่มีแหล่งปะทะเมื่อภัยพิบัติเกิดขึ้น

      ถึงเวลาที่เราจะร่วมมือร่วมใจกัน ช่วยรักษา ป่าต้นน้ำ ให้คงความอุมสมบูรณ์ เพื่อต่อยอดลมหายใจเรา และลูกหลานในอนาคตนะครับ

Total Views: 225 ,