ของป่าที่ขึ้นยาก แต่..ป่าชุมชนบ้านต้นต้อง มีพรึ่บ !!
ป่าชุมชนบ้านต้นต้อง จ.ลำปาง ต.พิชัย อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง บนเนื้อที่ 1,500 ไร่ ที่ป่าชุมชนแห่งนี้ ได้เกิดขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน ช่วยกันอนุรักษ์ จัดการ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์
โดยพื้นป่าชุมชนของภาคเหนือ ในปัจจุบัน มีมากกว่า 440 แห่ง จำนวนพื้นที่กว่า 7 แสนไร่ และพื้นที่แห่งนี้มีความเชื่อหนึ่งที่ทำให้คนในชุมชนไม่กล้าตัดไม้ทำลายป่า ด้วยการเดินตามรอยพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่าด้วยเรื่องของการปลูกป่า 3 อย่าง คือไม้ใช้สอย ไม้กินได้ และไม้เศรษฐกิจ เพื่อให้ได้ประโยชน์ 4 อย่าง คือพออยู่ พอกิน พอใช้ และเป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์ ถือได้ว่าป่าชุมชนบ้านต้นต้อง ได้เป็นแบบอย่างที่สมบูรณ์แบบ เพื่อให้ชุมชนอื่นๆ นำไปปรับใช้ได้อีกด้วยครับ
เมื่อดูแลรักษาผืนป่า ไม่ตัดไม้ทำลายป่า ความสมบูรณ์จึงเกิดขึ้น พืชพรรณทางธรรมชาติเจริญเติบโตได้ด้วยความสมดุลซึ่งกันและกัน ฉะนั้น ! ของป่าที่ว่าหายาก เจริญเติบโตช้า ต้องอาศัยพื้นที่ที่สมบูรณ์มากๆนั้น บอกเลยว่า.ป่าชุมชนบ้านต้นต้อง มีครบ จบในที่เดียวครับ
ของป่ายอดนิยมของคนไทย ที่นำมาประกอบอาหาร ต้องยกให้ Top 3 ได้แก่ ผักหวาน เห็ดเผาะ และไข่มดแดง ซึ่งทั้ง 3 นี้ มีตาม 2 ข้างทาง ป่าชุมชนบ้านต้นต้องนี้เลยครับ
ผักหวานป่า
ผักหวานป่า เป็นผักพื้นบ้านที่ขึ้นเองตามป่าราบ ใบอ่อน ใช้รับประทานได้ แต่ควรปรุงให้สุกเสียก่อน เนื่องจากการบริโภคสดๆ ในปริมาณมากอาจทำให้เกิดการเบื่อเมา เป็นไข้ และอาเจียนได้
ประโยชน์ และคุณค่าทางโภชนาการของผักหวาน จัดเป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นแหล่งของโปรตีน วิตามินซี บีตา-แคโรทีน ซึ่งช่วยในการมองเห็น บำรุงสายตา เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีแคลเซียม และฟอสฟอรัสสูง ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง และมีใยอาหารช่วยในการขับถ่าย
และที่นิยมสุดๆ คือ การนำมาประกอบอาหาร ส่วนยอด และใบอ่อน ช่อผลอ่อน มีรสชาติหวาน กรอบ อร่อยนำมาปรุงอาหารได้หลายชนิด เช่น ต้มจิ้มน้ำพริกหรือแจ่ว ผัด อ่อม แกงใส่หน่อไม้ หรือแกงเปรอะ แกงเห็ด แกงเลียง แกงจืด ผัดผัก ยำผัก โดยเฉพาะแถวทางภาคอีสาน และภาคเหนือนั้น จะนิยมแกงผักหวานป่าใส่ไข่มดแดง แกงใส่ปลาแห้ง ส่วนผลแก่ของผักหวานอาจลอกเนื้อทิ้ง นำเมล็ดไปต้มรับประทานได้เช่นเดียวกับเมล็ดขนุน มีรสหวานมัน
เห็ดเผาะ
“เห็ดเผาะ” หรือที่หลายคนเรียกกันว่า “เห็ดถอบ” เป็นเห็ดพื้นบ้านที่จะขึ้นเองตามธรรมชาติในบางพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือและภาคอีสาน และจะมีผลผลิตออกมาให้กินในช่วงต้นฤดูฝนแบบนี้ ราวๆเดือน พ.ค.-มิ.ย.
หน้าตาของเจ้าเห็ดเผาะจะเป็นลูกกลมๆ ข้างในมีสีขาวนวล เปลือกนอกกรอบ ถ้าแก่แล้วเปลือกนอกจะเป็นสีน้ำตาลถึงดำ ส่วนเนื้อด้านในก็จะเป็นสีดำไปด้วย ก่อนจะนำไปประกอบอาหารต้องล้างน้ำให้สะอาดหลายๆ น้ำ จนหมดดิน
ทำไม ? เห็ดเผาะ ถึงเป็นเมนูโปรดของใครหลายคน คำตอบก็คือ.. เห็ดเผาะ จะมีรสชาติมันๆ และกลิ่นหอมอ่อนๆ รวมถึงเมื่อเวลากัดเข้าไปในเนื้อเห็ดจะเหมือนกับมาเสียงเปาะออกมาในปาก เพราะเปลือกนอกของเห็ดแตกออก และจะได้ลิ้มรสชาติเนื้อในของเห็ด
นอกจากนี้ เห็ดเผาะยังสามารถนำไปทำอาหารได้หลากหลายเมนู อาทิ นำไปต้มใส่เกลือเล็กน้อย แล้วจิ้มกับน้ำพริก หรือจะนำไปทำแกงลาว ใส่น้ำปลาร้า น้ำใบย่านาง พร้อมกับผักหวานและไข่มดแดง หรือจะทำเป็นแกงคั่วเห็ดเผาะ เป็นแกงกะทิรสกลมกล่อมที่เข้ากันดีกับความมันและเนื้อแน่นๆ ของเห็ดเผาะ
ทีเด็ดนอกเหนือจากการนำมาประกอบอาหาร เห็ดเผาะยังช่วยบำรุงร่างกาย รักษาอาการช้ำใน ลดอาการบวมหรืออักเสบ แก้ร้อนใน
ไข่มดแดง
ไข่มดแดง ถือเป็นเมนูที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพราะมีโปรตีนสูง แถมไข่มดแดงยังมีไขมัน และแคลอรีน้อยกว่าเมื่อเทียบกับไข่ไก่อีกด้วย แนะเพิ่มเติม !! คือ การปรุงสุกก่อนรับประทาน โดยต้องล้างก่อนนำมาปรุงประกอบอาหาร และต้มหรือลวกให้สุกทุกครั้ง ไม่ควรกินแบบสุกๆ ดิบๆ เพราะอาจปนเปื้อนเชื้อโรคได้ !!!
ไข่มดแดง คือ ตัวอ่อนระยะดักแด้ของมดงาน และมดราชินี เป็นเม็ดขนาดใหญ่สีขาวถึงชมพูอ่อน ชาวเหนือเรียกไข่มดขนาดใหญ่ว่า “เต้ง” คนอีสานเรียก “แม่เป้ง” เวลาชาวบ้านออกหาของป่า มักจะมองหารังมดแดงที่มีไข่มดแดงขนาดใหญ่จำนวนมากเพราะถือเป็นของดีเกรดเอ เวลาปรุงอาหารจะได้รสชาติที่อร่อยกว่า
สามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู เมนูที่ทำได้ง่ายๆ แต่มีรสชาติอร่อยเด็ด คือ “ไข่เจียวไข่มดแดง” รวมถึงแกงผักหวานป่าใส่ไข่มดแดงอีกด้วยละครับ